ประวัติพณิชยการพระนคร

โดย อาจารย์ เพิ่มศักดิ์ วรรลยางกูร

อาจารย์ ธนดิษฐ์ ไพโรหกุล

พ.ศ.๒๔๔๓ โรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษวัดสัมพันธวงศ์ นับเป็นการเริ่มต้นโรงเรียนพณิชยการ โดยมี นาย เอ็ม วี นาธาน เป็นผู้อำนวยการท่านแรก ทั้งนี้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับแรก ซึ่งส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนในวิชาเฉพาะ (หรือที่เรียกว่าการอาชีวศึกษาในเวลาต่อมา) เพื่อให้ผู้เรียนมีความชำนาญในวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่ง จนสามารถนำไปประกอบสัมมาอาชีพได้ อาทิ วิชาชีพครู วิชาแพทย์ วิชารังวัด วิชาเพาะปลูก วิชาหัตถกรรม และวิชาการค้า เป็นต้น ในระยะแรกนั้น โรงเรียนประถมศึกษาพิเศษภาษาอังกฤษวัดสัมพันธวงศ์ เน้นการเรียนการสอนเฉพาะภาษาอังกฤษอย่างเดียว ในเวลาต่อมาได้ขยายหลักสูตรเพิ่มขึ้น โดยมีทั้งวิชาเสมียน วิชาการค้า และวิชาการบัญชี

พ.ศ. ๒๔๔๕ โรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒาราม (วัดตะเคียน) แบ่งนักเรียนบางส่วนจากโรงเรียนวัด สัมพันธวงศ์ มาเปิดเป็นโรงเรียนพณิชยการโดยเฉพาะ นับเป็นการเริ่มต้นโรงเรียนพณิชยการอย่างแท้จริง

พ.ศ. ๒๔๕๓ โรงเรียนพณิชยการวัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) เป็นโรงเรียนพณิชยการที่เปิดขึ้นใหม่อีกแห่งหนึ่ง ครั้น พ.ศ. ๒๔๕๗ ย้ายไปอาศัยสถานที่ของโรงเรียนเพาะช่าง อยู่ได้ ๒ ปี ย้ายไปรวมกับโรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒาราม

พ.ศ. ๒๔๕๙ โรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง ท่านผู้หญิงแพ พิทโยธิศ สร้างอาคารหลังหนึ่งอุทิศให้เป็นโรงเรียนพณิชยการ ทางราชการจึงย้ายโรงเรียนพณิชยการวัดมหาพฤฒารามมาอยู่ที่แห่งใหม่นี้ จึงได้เปลี่ยนชื่อเสียใหม่ เพื่อ ให้สอดคล้องกับสถานที่

พ.ศ. ๒๔๗๒ โรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยา เมื่อมีผู้นิยมเรียนวิชาพณิชยการมากขึ้น จนสถานที่คับแคบ กระทรวงธรรมการจึงได้แบ่งนักเรียนจำนวนหนึ่งจากโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง มาเปิดเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๔๗๖ โรงเรียนพณิชยการเสาวภา กระทรวงธรรมการได้เปิดโรงเรียนพณิชยการรับเฉพาะนักเรียนหญิงขึ้นที่โรงเรียนเสาวภาเดิม และเปิดโรงเรียนพณิชยการ ในต่างจังหวัดขึ้นอีก ๑๕ จังหวัด โดยอาศัยสถานที่ของโรงเรียนประจำจังหวัด คือ เชียงใหม่ แพร่ นครราชสีมา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ราชบุรี สงขลา ตรัง ปัตตานี ภูเก็ต ชลบุรี เชียงราย น่าน และสุราษฎร์ธานี แต่เปิดสอนอยู่ไม่นานก็ต้องเลิกล้มไปทีละแห่งสองแห่งจนหมด

พ.ศ. ๒๔๘๐ โรงเรียนพณิชยการวัดเทวราชกุญชร ย้ายโรงเรียนพณิชยการวัดสามพระยา มาอยู่ที่นี่ และเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานที่

พ.ศ. ๒๔๘๓ โรงเรียนพณิชยการพระนคร ย้ายโรงเรียนพณิชยการวัดเทวราชกุญชร ไปรวมกับโรงเรียนพณิชยการวัดแก้วฟ้าล่าง เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนพณิชยการพระนคร (The Bangkok Commercial School) โดยมีนาย ทวีสวัสดิ์ บุญหลง เป็นผู้อำนวยการท่านแรก เนื่องจากมีนักเรียนน้อย ทางราชการจึงสั่งให้ไปอาศัยเรียนที่ โรงเรียนภาษาต่างประเทศวัดบพิตรภิมุข ในปีเดียวกัน ปี พ.ศ. ๒๔๘๗ มีนักเรียนเพิ่มมากขึ้น จึงให้ย้ายไปเรียนที่วังบูรพาภิรมย์ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้อพยพหลบภัยไปเปิดสอนที่ วังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อสงครามสงบได้ย้ายกลับมาวังบูรพาภิรมย์ตามเดิม ระยะนี้มีผู้นิยมเรียนมากขึ้น ทางราชการจึงให้เปิดสอนรอบบ่ายขึ้นเป็นแห่งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๙ ต่อมาเจ้าของเรียกสถานที่คืน จึงต้องย้ายไปอาศัยเรียนอยู่ที่ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย เป็นการชั่วคราว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๐ เลิกการสอนรอบบ่าย

พ.ศ. ๒๔๙๑ กรมอาชีวศึกษา ต้นสังกัดได้จัดซื้อที่ดินบริเวณ วังสน หรือวังของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ ถนนพิษณุโลก จากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อก่อสร้างเป็น โรงเรียนพณิชยการพระนคร อย่างถาวร โดย จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๙๑ และได้เริ่มเปิดทำการเรียนการสอน เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๙๒ และเปิดสอนรอบบ่ายขึ้นอีก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ แต่ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ครั้น พ.ศ. ๒๕๐๘ ต้องเปิดสอนรอบบ่ายขึ้นอีก

พ.ศ. ๒๕๑๑ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ปรับปรุงขยายหลักสูตรให้สูงขึ้นถึงระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อจากประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วิทยาลัยพณิชยการพระนคร (The Bangkok Commercial College) ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ เป็นต้นมา

พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง "วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา" ขึ้น โดยมีฐานะเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หนึ่ง ให้มีการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยรับนักศึกษาที่จบประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงเข้าศึกษาต่ออีก ๒ ปี ดังนั้น จึงมีการรวมสถานศึกษา ระดับอาชีวศึกษา ๒๘ แห่งเข้าด้วยกัน โดยมีวิทยาลัยพณิชยการพระนคร รวมอยู่ด้วย

เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกระดับจากวิทยาลัยเป็นสถาบัน และพระราชทานชื่อใหม่ ให้วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา เป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล" ทำให้วิทยาลัยพณิชยการพระนคร ได้ยกระดับเป็น "สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร"

พ.ศ. ๒๕๔๘ อนุสนธิจาก พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ต้องการให้มีการรวมการ จัดการศึกษาทุกระดับไว้ในกระทรวงเดียวกัน คือกระทรวงศึกษาธิการ และให้สถาบันอุดมศึกษา ที่สอนในระดับอุดมศึกษา มาอยู่ในสังกัดเดียวกัน คือ สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา รวมทั้งยังมีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา เพื่อให้มีการบริหารจัดการการศึกษาที่เป็นอิสระคล่องตัวยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิด พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ทำให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล กลายเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

พ.ศ. ๒๕๔๙ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พณิชยการพระนคร) ได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ซึ่งเกิดจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ๙ แห่ง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ประกอบด้วย ๕ วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตเทเวศร์ วิทยาเขตโชติเวช วิทยาเขตพณิชยการพระนคร วิทยาเขตชุมพร เขตอุดมศักดิ์ และวิทยาเขตพระนครเหนือ ตามพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ สังกัดคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ด้านการปฏิรูปการศึกษา และนำพาประเทศสู่การแข่งขันกับนานาประเทศ เพื่อตอบสนองการพัฒนาประเทศโดยส่วนรวม เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน โดยขยายฐานการให้บริการอุดมศึกษาให้มากขึ้นมุ่งให้การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษามีความคล่องตัว

คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ศูนย์พณิชยการพระนคร) มีวัตถุประสงค์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนระดับสูง ให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ดำเนินการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ให้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนา การผลิต ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อความสามารถในการพึ่งตนเองและการแข่งขันในระดับนานาชาติ ให้บริการวิชาการแก่หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการให้คำปรึกษา แนะนำ การวิจัย การพัฒนา และการทดสอบ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม อนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม อันเป็นจารีตประเพณี รวมทั้งศิลป์บริสุทธิ์และศิลป์ประยุกต์ เพื่อให้เป็น ศูนย์รวมของชุมชน